บล็อก

ความรู้เรื่องการนวดไทย

ความนิยม 3เข้าชม/อ่าน 2509 ครั้ง2011-9-5 23:35 |เลือกหมวดหมู่:ภูมิปัญญาไทย

ประเภทของการนวดไทย

การนวดไทยจำแนกออกเป็น 2 ประเภท คือ

1.              การนวดแบบเชลยศักดิ์ (นวดพื้นบ้านทั่วไป)

2.              การนวดแบบราชสำนัก

1.  การนวดแบบเชลยศักดิ์ (นวดพื้นบ้านทั่วไป) หมายถึงการนวดแบบสามัญชน มีการสืบทอดฝึกฝนแบบแผนการนวดตามวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งเหมาะมากสำหรับชาวบ้านจะนวดกันเอง ใช้สองมือและอวัยวะส่วนอื่นโดยไม่ต้องใช้ยา ในปัจจุบันจึงเป็นที่รู้จักและแพร่หลายในสังคมไทย

2.  การนวดแบบราชสำนัก หมายถึงการนวดเพื่อถวายกษัตริย์ และเจ้านายชั้นสูงของราชสำนัก การนวดแบบราชสำนักพิจารณาถึงคุณสมบัติของผู้เรียนอย่างประณีตถี่ถ้วน และการสอนมีขั้นตอนจรรยามารยาทของการนวด การนวดต้องสุภาพมาก ใช้อวัยวะได้น้อย และต้องตรงตามจุด จึงกล่าวได้ว่าการฝึกมือและการนวดมีเอกลักษณ์เฉพาะ

การนวดไม่ใช่เพื่อรักษาความเจ็บป่วยเท่านั้น แต่มีคุณค่าต่อสุขภาพเป็นกระบวนการดูแลสุขภาพและรักษาโรค โดยอาศัยการสัมผัสอย่างมีหลักการระหว่างผู้ให้การรักษา (หมอนวด) และผู้รับการรักษา (ผู้ป่วย) การนวดจะส่งผลโดยตรงต่อร่างกายและจิตใจ คือตั้งแต่ทำให้เกิดการไหลเวียนของเลือดลม กล้ามเนื้อผ่อนคลาย รักษาอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย อาการฟกช้ำ เคล็ดขัดยอก จนกระทั่งสามารถช่วยให้สุขภาพดี จิตใจสดชื่น กระปรี้กระเปร่า จิตใจผ่อนคลายได้อย่างดี การนวดทุกรูปแบบจะมีส่วนสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ส่งเสริมความสัมพันธ์ภายในครอบครัว และสังคมอีกทางหนึ่ง

ในสังคมไทยสมัยก่อน การถ่ายทอดวิชาการนวดไทยยังไม่มีการสอนอย่างถูกระเบียบแบบแผน เป็นการถ่ายทอดตามสายบรรพบุรุษหรือตระกูลเดียวกัน ผู้เป็นอาจารย์จะพิจารณาว่ามีหน่วยก้านเหมาะสมที่จะถ่ายทอดวิชาความรู้ให้หรืออาจเป็นผู้ที่คุ้นเคย และอยากเรียนวิชามาฝากตัวเป็นศิษย์ โดยจะมีไหว้ครูและครอบวิชาหมอนวดให้ วิธีการเรียนการสอนมีลักษณะแบบตัวต่อตัว เริ่มเรียนจากการฝึกกำลังนิ้ว ตั้งแต่ขยำก้อนขี้ผึ้ง ดินน้ำมันหรือดินเหนียว จนมีกำลังนิ้วและมือแข็งแรงมากขึ้น จากนั้นจะสอนเรื่องจุดนวดเส้นเปิดประตูลม ฯลฯ แล้วเริ่มฝึกปฏิบัติ หัดนวดครู และติดตามครูเพื่อรับรู้ประสบการณ์ วิธีการนวดและการจับเส้นจากครูให้ได้มากที่สุด การเรียนรู้ต้องใช้ความอุตสาหะอย่างมากในการฝึกปรือ จึงจะสามารถรับวิชาการนวดไทยได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ

การนวดหรือหัตถเวชเป็นการรักษาโรควิธีหนึ่ง ซึ่งมีผลทางการรักษาโรคบางโรคได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะโรคที่ไม่สามารถบำบัดได้ด้วยการใช้ยาฉีดหรือยากิน การนวดจึงมีบทบาทสำคัญอย่างหนึ่งในการรักษาโรค

การนวดเป็นทั้งศาสตร์และศิลปะที่มีมาช้านาน การนวดได้เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ในแผ่นดินสมัยอยุธยา ไปจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ หมอนวดที่มีชื่อเสียงมากในยุคนั้นได้แก่ หมออินเทวดา ซึ่งเป็นหมอนวดในราชสำนักและยังมีหมอนวดร่วมสมัยอีกหลายท่าน หมออินเทวดาได้ถ่ายทอดวิชาการนวดทั้งหมดให้แก่บุตรชาย คือ หมอชิตเดชพันธ์ ซึ่งต่อมาได้ถ่ายทอดให้กับศิษย์หลายท่านและในจำนวนนั้นมี อาจารย์ณรงค์สักข์ บุญรัตนหิรัญ ซึ่งเป็นศิษย์เอกรวมอยู่ด้วย และต่อมาเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่อายุรเวทวิทยาลัย (ชีวกโกมารภัจจ์) โดยการเชิญของท่านจึงได้ถ่ายทอดวิชาการนวดแบบราชสำนักนี้ให้แก่นักศึกษาของอายุรเวชวิทยาลัย ฯ ทุกคน เพื่อให้เป็นผู้สืบทอดวิชาการนวดไทยสายราชสำนัก มิให้เสื่อมสูญไป นับได้ว่าอาจารย์ณรงค์สักข์ บุญรัตนหิรัญ ได้เป็นผู้อนุรักษ์ศาสตร์และศิลปะแขนงนี้ผู้หนึ่ง

การนวดไทยแบบราชสำนัก เป็นการนวดถวายในหลวงหรือเจ้านายชั้นสูงของราชสำนัก ผู้นวดจะต้องเดินเข่าเข้าหาผู้ป่วยราว 2 ศอก จึงนั่งพับเพียบและคารวะขออภัยผู้ป่วย หลังจากนั้นหมอจะคลำชีพจรที่ข้อมือ และหลังเท้าข้างเดียวกัน เพื่อตรวจดูอาการของโรคแล้ว จึงเริ่มทำการนวดคล้ายการนวดแบบทั่วไปต่างกันที่ตำแหน่งการวางมือองศาที่แขนของผู้นวดทำกับตัวของผู้ป่วย และท่าทางของผู้นวดซึ่งจะต้องกระทำอย่างสุภาพยิ่ง

ความแตกต่างของการนวดไทยแบบราชสำนัก กับการนวดทั่วไป คือ

1.             ผู้นวดแบบราชสำนักต้องมีกิริยามารยาทเรียบร้อยสุภาพอ่อนน้อม เดินเข่าเข้าหาผู้ป่วย ไม่หายใจรดผู้ป่วยขณะทำการนวด ต้องหันหน้าไปข้าง ๆ หรือเงยหน้า

2.             ผู้นวดแบบราชสำนักจะไม่เริ่มนวดฝ่าเท้า นอกจากจะมีความจำเป็นจริง ๆ มักจะเริ่มนวดตั้งแต่หลังเท้าขึ้นไป

3.             ผู้นวดแบบราชสำนักจะใช้เฉพาะ นิ้วหัวแม่มือและปลายนิ้วอื่น ๆ เท่านั้นในการนวด และไม่ใช้การนวดคลึง ในการกด (นวด) แขนจะต้องเหยียดตรงเสมอ

4.             ผู้นวดแบบราชสำนักจะทำการนวดผู้ป่วยซึ่งอยู่ในท่านั่ง นอนหงายหรือนอนตะแคง แต่ไม่ให้ผู้ป่วยนอนคว่ำเลย

5.             ผู้นวดแบบราชสำนักไม่ใช้การดัดหรืองอข้อ หลัง หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายด้วยกำลังแรง และไม่มีการนวดโดยการใช้เข่า ข้อศอก ฯลฯ

6.             ผู้นวดแบบราชสำนักต้องการให้เกิดผลต่ออวัยวะและเนื้อเยื่อที่อยู่ลึก ๆ โดยการเพิ่มการไหลเวียนเลือด และเพิ่มการทำงานของเส้นประสาท จึงทำการนวดหลอดเลือดและเส้นประสาท ในการนี้ผู้นวดจะต้องมีความรู้ทางกายวิภาคศาสตร์เชิงปฏิบัติอย่างดีพอควร

คุณสมบัติของหมอนวดสายราชสำนัก

ในการเรียนและฝึกใด ๆ ไม่มีใครสามารถทำแทนกันได้ เพื่อชื่อเสียงในอนาคตผู้ฝึกจึงต้องพยายามให้พร้อมด้วยองค์ประกอบ 5 ประการ คือ

1.  ตั้งสัจจะ

ผู้ฝึกจะต้องตั้งสัจจะที่จะรักษาศีลจรรยาบรรณของวิชาหัตถเวชโดยเคร่งครัด คือ

ศีลของหมอนวด

1.    ไม่ดื่มสุรา หมายถึง ไม่ดื่มสุราก่อนการนวด และหลังการนวด รวมทั้งไม่ดื่มสุราและรับประทานอาหารที่บ้านผู้ป่วยด้วย

2.    ไม่หลอกลวง หมายถึงไม่เลี้ยงไข้ คือ ถ้าสามารถนวดให้หายได้ภายในครั้งเดียว ก็ไม่ล่อลวงผู้ป่วยว่าต้องนวด 3 หรือ 4 ครั้ง เพื่อหวังผลประโยชน์

3.    ไม่เจ้าชู้ หมายถึง มีความสุภาพ ไม่แสดงกิริยา ท่าทางลวนลามหรือใช้คำพูดแทะโลมผู้ป่วย ไม่แสดงกิริยายั่วยวน

สถานที่อโคจร

ไม่นวดผู้ป่วยในสถานที่อโคจร ได้แก่ โรงแรม โรงน้ำชา โรงยาฝิ่น สถานการพนัน สถานเริงรมย์ และโรงพยาบาล (ยกเว้น โรงพยาบาลซึ่งแพทย์อายุรเวทเข้าดำเนินกิจการอยู่ด้วย)

2.  ตั้งนิ้ว

คือการฝึกกำลังนิ้ว วิธีการฝึกกำลังนิ้ว ท่ายกกระดาน ตามหลักของท่านอาจารย์หมดชิต เดชพันธ์ ที่ท่านอาจารย์ณรงค์สักข์ บุญรัตนหิรัญ นำมาสอน คือ

1.    นั่งขัดสมาธิเพชร (ขัดสมาธิสองชั้น)

2.    วางมือทั้งสองลงข้างลำตัว โดยให้แขนเหยียดตรงโหย่งนิ้วมือทั้งห้านิ้วเป็นรูปถ้วยพร้อมกันทั้งสองข้าง

3.    ยกตัวให้ลอยขึ้นเหนือพื้นโดยให้น้ำหนักตัวทั้งหมดอยู่ที่นิ้วทั้งสองข้าง ฝึกจนสามารถยกตัวลอยเหนือพื้นได้ 45 – 60 วินาที

4.    เมื่อฝึกจนชำนาญแล้ว ก็สามารถฝึกยกกระดาน โดยใช้นิ้วเพียง 3 นิ้ว (นิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง) 2 นิ้ว (นิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้) 1 นิ้ว (นิ้วหัวแม่มือ) แล้วแต่ความสามารถของแต่ละบุคคล

   

3.  ตั้งสมาธิ

ผู้นวดจะต้องมีสมาธิอยู่ที่นิ้วที่กดลงบนจุดสัญญาณต่าง ๆ มิฉะนั้นจะรับรู้การเต้นของสัญญาณ ต่าง ๆ ได้ยาก เมื่อกำหนดจุดสัญญาณต่าง ๆ ไม่ได้ การนวดย่อมผิดพลาดได้ง่าย การทำสมาธิให้ใจจดจ่ออยู่ที่นิ้วแห่งเดียว (แม้การฝึกนิ้วให้มีกำลัง) จะทำให้การรับสัมผัสของนิ้วไวขึ้น และให้แรงกดถูกต้อง กำลังนิ้วและความอดทนของนิ้วดีขึ้น ดังเช่นคำกล่าวที่ว่า นิ้วอยู่ที่ไหน ใจอยู่ที่นั่น

4.  ตั้งตา

ผู้ฝึกต้องมีความสังเกตดี ต้องตั้งตามองการสาธิตของอาจารย์อย่างถี่ถ้วน หมอจะต้องเข้าใกล้ผู้ป่วยด้วยทีท่าอย่างไร แขนขางอ หรือกางประมาณกี่องศา และหมอจะวินิจฉัยโรคได้อย่างไร โรคใดหายได้ด้วยการนวด และโรคใดไม่สามารถรักษาให้หายได้ หมอควรอธิบายผู้ป่วยอย่างไร

5.  ตั้งใจ

ผู้ฝึกต้องตั้งใจฝึกอยู่เสมอ ทั้งในและนอกชั้นเรียนต้องมีความอดทนฝึกการตั้งสมาธิ การตั้งมือ การตั้งท่า และทบทวนภาคทฤษฎีอยู่เป็นนิจ

 

มารยาทของผู้นวด ตามระเบียบแบบแผนในราชสำนัก

ขั้นตอน ระเบียบในราชสำนัก

1.    ต้องเดินเข่าเข้าหาผู้ป่วย เมื่ออยู่ห่างจากผู้ป่วยระยะประมาณ 4 ศอก ขณะเดิน มืออยู่ในท่าเคารพ แนบชิดลำตัว ไม่แกว่งแขน

2.    นั่งพับเพียบ (ปลายเท้าชี้ลงล่าง) อยู่ห่างจากผู้ป่วย ระยะประมาณ 1 ศอก (หัตถบาส)

3.    ยกมือไหว้ผู้ป่วย เพื่อแสดงความเคารพ ขออภัยในการที่ต้องถูกเนื้อตัว ตามยศ ตำแหน่ง อายุของผู้ป่วย และเป็นรำลึกถึงครูบาอาจารย์

4.    ตรวจชีพจร ทั้งมือและเท้า เพื่อตรวจดูลมขึ้นเบื้องสูง และลมลงเบื้องต่ำ ว่าเท่ากันหรือไม่ และรวมถึงการทำงานของหัวใจ

5.    ในขณะทำการนวด ผู้นวดไม่ควรก้มหน้า เพราะจะเป็นการหายใจรดผู้ป่วย หรือไม่แหงนหน้า หันซ้าย หันขวาสอดส่ายสายตา เพราะเป็นการแสดงกิริยาที่ไม่สำรวม


เขินอ่ะ

อะไรก็ไม่รู้
2

เห็นด้วยๆ

ซึ้งจังเลย

ขำฮาตรึม

มีผู้แสดงความรู้สึก (2 คน)

ความคิดเห็น ความคิดเห็น (3 ความคิดเห็น)

ตอบกลับ gangk 2013-7-30 08:24
มันเป็นศาสตร์ของการนวด
ตอบกลับ mungkorn4 2013-12-9 09:06
สวัสดีปีใหม่ 2557 ครับ
ตอบกลับ 2October 2021-6-19 08:04
ขอบคุณสำหรับบทความครับ

facelist doodle วาดภาพ

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถแสดงความคิดเห็นได้ เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก

hong_3985 ID 93

  • อันดับ
    Level.10
  • เครดิต
    8696
  • เครดิต
    8696
  • เงินยูโร
    50756176
  • จิตพิสัย
    61796
  • ทอง
    17905
TOP